วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

เที่ยวเขื่อนสิริกิติ์เมืองอุตรดิตถ์


 เขื่อนสิริกิติ์
 เขื่อนสิริกิติ์
         
เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก่อสร้างขึ้น ตามโครงการพัฒนา  ลุ่มน้ำน่าน เดิมชื่อ "เขื่อนผาซ่อม" ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถขนานนามว่า "เขื่อนสิริกิติ์" เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2511 ก่อสร้างขึ้น ปิดกั้นแม่น้ำน่าน ณ บริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 58 กิโลเมตร  
      
แม่น้ำน่าน
          นับเป็นลำน้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นกำเนิดจากดอยภูแว ในเทือกเขา หลวงพระบาง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนกับประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว ในเขตท้องที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ลำน้ำน่านตอนต้นไหลไปทางทิศเหนือ คดเคี้ยวไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลผ่านอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในช่วงนี้จะมีที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ติดต่อกันจนถึง อำเภอสา จังหวัดน่าน แต่ก็เป็นที่ราบแคบ ๆ จากนั้น แม่น้ำน่านจะไหลผ่านหุบเขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เข้าเขตอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ แล้วไหล ไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัด อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ไปบรรจบกับแม่น้ำยม ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลรวมกับแม่น้ำปิง ที่ตำบลแควใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไปโดยมีความยาวตลอดลำน้ำถึง 615 กิโลเมตร ซึ่งนับว่ายาวที่สุด ในบรรดาแควต้นน้ำเจ้าพระยาด้วยกัน และมีพื้นที่ลุ่มน้ำถึง 33,130 ตารางกิโลเมตรที่ราบสองฝั่ง แม่น้ำน่าน ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงมาจำนวน 1,800,000 ไร่ ในเขตชลประทานพิษณุโลก นับว่าเป็นทุ่งราบที่สำคัญแห่งหนึ่งในประเทศ และเหมาะแก่การเกษตรกรรมอย่างยิ่ง ซึ่งแต่ก่อน มักถูกน้ำท่วม เป็นประจำเพราะไม่มีระบบควบคุมน้ำ รัฐบาลจึงได้มีการวางแผนพัฒนา ลุ่มน้ำน่านขึ้นมา 3 ระยะ คือ      
  
ระยะที่ 1
ก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในอ่างสำหรับประโยชน์ ทางด้านการชลประทาน และการผลิตกระแสไฟฟ้า

ระยะที่ 2 ก่อสร้างเขื่อนนเรศวรขึ้นที่บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นเขื่อนทดน้ำ พร้อมทั้งก่อสร้างระบบส่งน้ำสำหรับพื้นที่สองฝั่งในอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก กับอำเภอสามง่าม อำเภอเมือง และอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร รวมพื้นที่ประมาณ 678,000 ไร่ โครงการระยะที่ 2 นี้ ได้เริ่มงานก่อสร้างเบื้องต้น เมื่อ พ.ศ.2512 แล้วเสร็จปี พ.ศ.2527     
     ระยะที่ 3 ก่อสร้างเขื่อนอุตรดิตถ์ที่บ้านผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทดน้ำ และมีระบบส่งน้ำ สำหรับพื้นที่สองฝั่งอำเภอเมือง อำเภอลับแล อำเภอตรอน และ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กับอำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอเมือง อำเภอวังทอง และ อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก รวมพื้นที่ประมาณ 873,000 ไร่ โครงการระยะที่ 3 นี้ ยังไม่ได้ดำเนินการ แผนพัฒนาลุ่มน้ำน่านนี้ เป็นการวางแผนที่จะนำน้ำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างเต็มที่ จึงได้วางแผนให้เกี่ยวโยงกันทั่วลุ่มน้ำคือตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ กำหนดระบบวิธีจัดเก็บ และการใช้น้ำ ให้เกิดประโยชน์หลายๆอย่าง รวมทั้งได้กำหนดขั้นตอนของการพัฒนา ให้เหมาะสมกับภาวะท้องที่เป็นระยะๆไป โดยท้องที่ส่วนใหญ่ของทุ่งราบสองฝั่งแม่น้ำน่าน มักถูกน้ำท่วมเป็นประจำ การพัฒนา จึงต้องสร้างเขื่อนเก็บน้ำขึ้น ก่อนที่จะสร้างเขื่อนทดน้ำ และระบบส่งน้ำ เพราะหากก่อสร้างเขื่อนทดน้ำและระบบส่งน้ำก่อน น้ำที่ท่วมนองนอกจาก จะยังความเสียหายให้แก่การเพาะปลูกเช่นเดิมแล้ว ยังทำความเสียหายให้แก่งานก่อสร้างเขื่อน ทดน้ำและระบบส่งน้ำ อีกด้วย ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างเขื่อนสิริกติ์ซึ่งเป็นเขื่อนเก็บน้ำ ขึ้นก่อนเขื่อนอื่นๆ




 

                                                                                               

รถยนต์ 
       อุตรดิตถ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร การเดินทางโดยทางรถยนต์สามารถไปได้ 2 ทาง คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้านครสวรรค์ แล้วใช้เส้นทาง 11 เข้าพิษณุโลก แล้วเดินทางตามเส้นทางหมายเลข 11 ถึงอุตรดิตถ์ อีกส้นทางหนึ่ง คือ กรุงเทพฯ ไปสิงห์บุรี แล้วใช้เส้นทางสายอินทร์บุรี-ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จนถึงทางหลวงหมายเลข 12 (พิษณุโลก-หล่มสัก) เลี้ยวซ้ายไปอีก 8 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 11 จนถึงอุตรดิตถ์เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1045 อีกประมาณ 50 กิโลเมตร

   
  รถโดยสาร
       จากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 มีรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ จากกรุงเทพฯ สู่อุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว ราย ละเอียดติดต่อ โทร. 936-3660, 936-3666   แล้วนั่งรถประจำทางต่อไปยังเขื่อนสิริกิติ์อีกประมาณ 60 กิโลเมตร

      
รถไฟ
       จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีรถไฟไปอุตรดิตถ์ทุกวันวันละหลายเที่ยว จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ รายละเอียดสอบถามได้ที่ โทร. 223-7010, 223-7020 แล้วนั่งรถประจำทางต่อไปยังเขื่อนสิริกิติ์อีกประมาณ 60 กิโลเมตร